วิกฤตหรือโอกาส "ธุรกิจรถโดยสารประจำทาง" อยู่ในช่วงขาลงจริงหรือ?

0

 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ธุรกิจรถโดยสารถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่แม้ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการการจำกัดการเดินทางแล้วก็ตาม แต่สภาพของธุรกิจรถโดยสารประจำทาง ก็ยังคงดูซบเซาไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังที่เราจะได้เห็นข่าวการประกาศขายกิจการเพื่อเอาตัวรอดอยู่เรื่อยๆ ที่แม้กระทั่งเจ้าใหญ่อย่างเชิดชัยทัวร์ ก็ยังจำต้องขายกิจการบางเส้นทางเพื่อปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

และแม้จะตัดสถานการณ์โรคระบาดออกไป สภาพธุรกิจรถโดยสารในประเทศไทย ก็อยู่ในสภาพที่ชะลอตัวมาสักพักอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากตัวเลขจำนวนรายได้เฉลี่ยรวมของผู้ประกอบการมีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงหลักอย่างน้ำมันดีเซล ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละปี ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการประกอบการเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มลดลง

จึงไม่แปลกใจนัก ที่หลายๆคนจะมองว่า นี่คือช่วงขาลงของธุรกิจรถโดยสารประจำทางอย่างแท้จริง 

แต่จริงๆ แล้วเรื่องแบบนี้ ในมุมมองของผมมันคือเรื่องธรรมดาที่แสนจะธรรมดา 

ในโลกของความเป็นจริง มันก็เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง" คำนี้ยังคงใช้ได้เสมอ โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ ยิ่งต้องท่องให้ขึ้นใจ

หากจะสังเกตในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่ามันคือการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจรถโดยสารเอกชนรายย่อย มาสู่ธุรกิจรถโดยสารประจำทางที่ผู้ประกอบการเป็นรายใหญ่ 

ประกอบกับในอนาคต เมื่อรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่เปิดใช้บริการ จะส่งผลให้พฤติกรรมการเดินทางของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป การเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ตามภูมิภาคของประเทศจะสะดวกสบายและรวดเร็วมากขึ้น ถึงแม้จะกระทบกับธุรกิจรถโดยสารประจำทางระยะไกล ที่อาจส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารโดยรถบัสหรือรถทัวร์ลดน้อยลง เพราะหันไปใช้บริการรถไฟเพิ่มมากขึ้น แต่นี่มันคือโอกาสสำหรับธุรกิจรถโดยสารระยะสั้นที่เชื่อมระหว่างเมืองใหญ่ที่อยู่บนเส้นทางรถไฟกับเมืองย่อยที่อยู่โดยรอบ 

ขอยกตัวอย่าง สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดเลย ที่จากเดิมอาจจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือใช้บริการรถบัสโดยสาร ก็อาจจะหันมาใช้บริการรถไฟเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากจังหวัดเลยไม่ได้อยู่บนเส้นทางรถไฟ ก็จะต้องมาลงที่สถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งเป็นสถานีที่ใกล้ที่สุด และนี่คือโอกาสของผู้ประกอบการรถโดยสารที่มีเส้นทางรถโดยสารที่เชื่อมจังหวัดอุดรธานี กับ จังหวัดเลย ก็อาจจะได้ประโยชน์มีตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น

และกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ  ตามภูมิภาคของประเทศ เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี ขอนแก่น และเมืองอื่นๆ 

ทั้งหมดนี้ ผมมองว่าธุรกิจรถโดยสารประจำทางก็ยังคงไปต่อได้ และไม่ใช่ขาลงอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพียงแต่ว่ามันคือยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน ที่ผู้ให้บริการต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคสมัยใหม่ มุมมองธุรกิจในแบบเดิมอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป และการแข่งขันในธุรกิจรถบัสโดยสารประจำทางจะมีอย่างดุเดือดมากขึ้นในยุคที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่ ความใส่ใจในการให้บริการ และการเพิ่มมาตรฐานทั้งความปลอดภัยและความสะดวกสบายในรถบัสโดยสาร จะเป็นตัวเลือกสำคัญในการเลือกใช้บริการของผู้โดยสารในอนาคต อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางของประเทศไทย


วาณิมณ ทรานสปอร์ต

แสดงความคิดเห็น

0ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น (0)