บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง หรือ Transport Safty Manager เรียกย่อๆ ว่า TSM ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งทุกประเภท ต้องจัดให้มีบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง หรือ TSM อย่างน้อย 1 คน โดยผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็น TSM ได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการฝึกอบรมตามระยะเวลาที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณสมบัติ หลักสูตร ระยะเวลาการฝึกอบรมและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2564 ได้กำหนดหน้าที่ของ TSM มีดังต่อไปนี้
1. การจัดการตัวรถ
- จัดทำแผนบำรุงรักษารถและอุปกรณ์
- ตรวจความพร้อมของรถและอุปกรณ์
- ตรวจอุปกรณ์ความปลอดภัยที่จำเป็น
2. การจัดการผู้ประจำรถ
- กำหนดหน้าที่พนักงานขับรถ
- จัดทำแผนการทำงานของพนักงานขับรถ
- จัดแผนการอบรมพนักงานขับรถ
- จัดแผนการตรวจสุขภาพพนักงานขับรถ
- ตรวจแอลกอฮอล์
- ตรวจความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจ
- สุ่มตรวจสารเสพติด
3. การจัดการการเดินรถ
- จัดทำแผนการเดินทาง
- ตรวจสอบและจัดการการใช้ความเร็ว
- ตรวจสอบสถานะการเดินทาง
4. การจัดการการบรรทุกและโดยสาร
- จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน
- ตรวจสอบความปลอดภัยในการบรรทุกหรือรถโดยสาร
5. การบริหารจัดการ วิเคราะห์ และประเมินผล
- จัดทำแผนรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- บริหารจัดการ และติดต่อประสานงาน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- รายงานอุบัติเหตุ วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ
กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็น TSM ไว้ดังนี้ คือ
1. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปีบริบูรณ์ และ
2. ต้องผ่านการฝึกอบรมและทดสอบตามที่กำหนด
สำหรับการอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็น TSM แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. หลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป ใช้เวลาอบรมตามหลักสูตร 18 ชั่วโมง มีทั้งหมด 8 หัวข้อวิชา
2. หลักสูตรสำหรับ จป.และผู้มีประสบการณ์ ใช้เวลาอบรมตามหลักสูตร 6 ชั่วโมง
เมื่อผู้ขอขึ้นทะเบียนผ่านการอบรมตามประเภทและหลักสูตรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดแล้ว จะต้องยื่นขอเข้ารับการทดสอบ และต้องได้คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ หากผู้ใดไม่ผ่านการทดสอบ สามารถขอสอบแก้ตัวได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน หากพ้นกำหนดต้องเข้ารับการอบรมใหม่
สามารถศึกษารายละเอียดหรือหลักเกณฑ์การยื่นขอขึ้นทะเบียน TSM เพิ่มเติมได้ที่ tsmthai.com